รูปแบบที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31

คลิ๊กดูรายละเอียด »

รูปแบบที่ 2 สลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด

คลิ๊กดูรายละเอียด »




ข้อมูลโครงการ

     การดำเนินโครงการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 13(7/1) แห่งพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติให้การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2568 จำนวน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ชื่อโครงการภาษาไทย : โครงการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2568 (สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 และสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด)

ชื่อโครงการภาษาอังกฤษ : The National Public Hearing of GLO’s Stakeholders and the Study on Social Impacts of Digital Government Lottery 2025 (LOTTO 5/31 and INSTANT GAMES)

     สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์ (1) ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ (3) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยในมาตรา 13 (7/1) กำหนดให้ “การออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย” และในปี 2565 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้จัดทำโครงการฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 ประกอบด้วยรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) และสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก ต่อมาคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) และร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก และในการดำเนินการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยกำหนดให้ออกผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) แบบดิจิทัล และสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกซื้อหมายเลขได้ตามที่ต้องการ
     ปัจจุบัน “สลากกินแบ่งรัฐบาล” หรือ “ลอตเตอรี่ (Lottery)” มีผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้รับความนิยมจากประชาชนหรือผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบ คือ สลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล และสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก ประเภทสมทบเงินรางวัล โดยทั้งสองรูปแบบเป็นการเสี่ยงโชคที่ถูกกฎหมาย ดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐ มีกระบวนการออกรางวัลที่มีความโปร่งใส ได้รับเงินรางวัลแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบปัญหาว่ามีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) แบบใบ เกินกว่าราคาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งสองรูปแบบดังกล่าว อาจไม่เพียงพอที่จะสามารถตอบสนองความต้องการในการเสี่ยงโชคของประชาชนหรือผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และเกิดผลกระทบตามมา อาทิ ปัญหาการพนันนอกระบบที่แฝงมาทั้งในรูปแบบของการพนันออนไลน์หรือแบบออฟไลน์ การเล่นหวยใต้ดิน การเล่นพนันฟุตบอล หรือการพนันในรูปแบบอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสี่ยงหรือปัญหาการเสพติดการพนัน เกิดภาระหนี้สิน เกิดปัญหาครอบครัว ขยายไปสู่ปัญหาสังคมในวงกว้างต่อไป เป็นต้น
     จากปัญหาดังกล่าว ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายเพิ่มเติม ให้มีความเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ รวมทั้ง เพื่อให้สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการปรับปรุงระบบบริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นควบคู่กับความพร้อมของสังคมไร้เงินสด ที่จะนำไปสู่การยกระดับการแข่งขันในด้านสังคม เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นไปตามมาตรา 13(7/1) แห่งพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติให้การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2568 จำนวน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31) ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

     1. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบประกอบด้วย รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31) ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
     2. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบ (รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31) ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

     เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบ(รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31) ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล) และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

     สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง

พื้นที่ดำเนินการทั่วประเทศ

     1. ปิดประกาศ ณ สถานที่ที่จะดำเนินโครงการ และประกาศข้อมูลที่ต้องเผยแพร่แก่ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้น และประกาศข้อมูล ที่ต้องเผยแพร่ ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568
     2. จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านทางเครือข่ายสารสนเทศ ในระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568
     3. ภายหลังเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ต้องจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยประกาศให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียรับทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย

เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2568 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 สิ้นสุดเวลา 23.59 น.

     1. ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างครบถ้วนและมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบ (รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31) ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล
     2. ได้ทราบความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงทราบผลกระทบทางสังคมและมาตรการลดผลกระทบทางสังคม ตามมาตรา 13 (7/1) แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

     สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันอันเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและเป็นทางเลือกของประชาชนที่มากขึ้น รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาประกอบการนำเสนอการกำหนดประเภทและรูปแบบต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

     1. กลุ่มผู้ซื้อ ต้องเรียนรู้สลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ เช่น วิธีการซื้อ การเล่น การถูกรางวัลการรับเงินรางวัล รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้อง ความแม่นยำ ความมีเสถียรของระบบ และความปลอดภัยของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในขณะเดียวกันวิธีการซื้อแบบใหม่ ทำให้ผู้ซื้อมีความสะดวกและมีความเป็นอิสระในการสั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมากยิ่งขึ้น อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เกินกำลังซื้อหรือมากจนเกินไป
     2. กลุ่มผู้ขาย ต้องเรียนรู้วิธีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการซื้ออุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้ง อาจส่งผลทำให้รายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบเดิมลดลง จากแนวโน้มความนิยมของสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบเดิมลดลง เนื่องจากมีสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่มาเป็นทางเลือก
     3. กลุ่มผู้ขาย เฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือคนพิการ อาจมีข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่

     1. เผยแพร่ข้อมูลประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบ (รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31) ประเภทสมทบเงินรางวัล และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES) ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล) รวมถึงวิธีการซื้อและวิธีการจำหน่าย ระบบความปลอดภัยของระบบและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้แก่ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างครบถ้วนผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามที่กำหนด
     2. มีการเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีวิธีการซื้อและวิธีการจำหน่าย การใช้งานระบบอย่างปลอดภัยภายใต้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
     3. มีมาตรการในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบเดิม รวมทั้ง การสนับสนุนการเข้าถึงอุปกรณ์การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ ตามที่กำหนด
     4. มีมาตรการในการทำให้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่
     5. มีมาตรการในการจำกัดอายุผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีมาตรการ ในการสร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบ ผลเสียของพฤติกรรมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินกำลังซื้อหรือมากจนเกินไปรวมถึงการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนในกรณีที่ผู้ซื้อมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินกำลังซื้อหรือมากจนเกินไป

จำนวนเงิน: - บาท
ที่มาของเงิน: ไม่ใช้งบประมาณ

วิธีการ ระยะเวลาดำเนินการ สถานที่และรายละเอียดอื่น ๆ
การรับฟังความคิดเห็น
ผ่านทางเครือข่ายสารสนเทศ
ระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม 2568
ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568
    การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสารสนเทศ
    • ผ่านเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
    • ผ่านเว็บไซต์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล www.glo.or.th และ lottery.glo.or.th

ติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ GLO Call Center โทรศัพท์หมายเลข 0 2528 9999 กด 0 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.30 – 15.30 น.



การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2568

     ตามมาตรา 13 (7/1) แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ว่า “การออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย” เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ดังนี้
     ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ว่า เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22(1) หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
     เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22(1) ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลและไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
     เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22(1) ที่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล แต่ผู้นั้นไม่มาขอรับเงินรางวัลภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 37 ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ประเภทสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงกำหนดได้ 2 ประเภท คือ

1. ประเภทสมทบเงินรางวัล
     เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

2. ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล
     เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลและไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล


รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล

     จากการศึกษารูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมของประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงได้กำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31)
     เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

รูปแบบที่ 2 สลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES)
     เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลและไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล


รูปแบบที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31)

ชื่อและโลโก้ : สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 (LOTTO 5/31)

ประเภทสลาก : ประเภทสมทบเงินรางวัล โดยจะสมทบเงินรางวัลที่ไม่มีผู้ถูกรางวัลในแต่ละประเภทรางวัลได้ไม่เกิน 1 งวด เป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็น เงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด ทั้งนี้ เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

วิธีการเลือกสลาก : กำหนดให้มีทั้งหมด 31 หมายเลข ตั้งแต่ 01 ถึง 31 (01 02 03 04,...,31) โดยต้องเลือก 5 หมายเลขแบบไม่ซ้ำกัน ต่อการเลือกซื้อสลาก จำนวน 1 ฉบับ

คุณสมบัติผู้ซื้อ-ผู้ขาย (มาตรา 39/2) : จำกัดอายุผู้ซื้อ-ผู้ขาย 20 ปี ขึ้นไป

สัดส่วนยอดการจำหน่าย (ตามมาตรา 22) :
     กำหนดการจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ดังนี้
     1. ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล
     2. ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบสามเป็นรายได้แผ่นดิน
     3. ไม่เกินกว่าร้อยละสิบเจ็ดเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน

การจัดสรรรางวัล :
     กำหนดให้มี4 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 ตรง 5 หมายเลข รางวัลที่ 2 ตรง 4 หมายเลข และตรงกับหมายเลขโบนัส 1 หมายเลข รางวัลที่ 3 (ตรง 4 หมายเลข) และรางวัลที่ 4 (ตรง 3 หมายเลข)

ประเภทรางวัล เงื่อนไขการถูกรางวัล คำอธิบาย สัดส่วนเงินรางวัล
รางวัลที่ 1 ตรง 5 หมายเลข หมายเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัล 5 หมายเลข(ไม่ต้องตรงหลัก) 47%
รางวัลที่ 2 ตรง 4 หมายเลข
และตรงหมายเลขโบนัส 1 หมายเลข
หมายเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัล 4 หมายเลข (ไม่ต้องตรงหลัก)
และอีก 1 หมายเลขตรงกับผลการออกรางวัลหมายเลขโบนัส
29%
รางวัลที่ 3 ตรง 4 หมายเลข หมายเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัล 4 หมายเลข (ไม่ต้องตรงหลัก) 16%
รางวัลที่ 4 ตรง 3 หมายเลข หมายเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัล 3 หมายเลข (ไม่ต้องตรงหลัก) 8%

การจัดให้มีสลาก : กำหนดวิธีการจำหน่ายสลากแบบดิจิทัล ไม่มีการกำหนดหมายเลขสลากกำกับไว้ในระบบดิจิทัล ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขที่ตนเองต้องการได้จำนวน 5 หมายเลข จากทั้งหมด 31 หมายเลข ตั้งแต่หมายเลข 01 ถึงหมายเลข 31

การออกรางวัล : ออกรางวัลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามวันที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด

การจ่ายเงินรางวัล :
     เงินรางวัลร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 รวมในแต่ละงวด (งวดละ 7 วันหรือ 1 สัปดาห์) กำหนดจ่ายเงินรางวัลแบบผันแปรในแต่ละประเภทรางวัล ดังนี้
     (1) รางวัลที่ 1 จ่ายเงินรางวัลแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 47 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลที่ 1 ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นจำนวนเงินเต็มไม่มีเศษสตางค์(ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษสตางค์ที่เหลือไปรวมสมทบให้กับผู้ถูกรางวัลที่ซื้อเป็นคนแรก
     (2) รางวัลที่ 2 จ่ายเงินรางวัลแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 29 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลที่ 2 ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นจำนวนเงินเต็มไม่มีเศษสตางค์(ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษสตางค์ที่เหลือไปรวมสมทบให้กับผู้ถูกรางวัลที่ซื้อเป็นคนแรก
     (3) รางวัลที่ 3 จ่ายเงินรางวัลแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 16 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลที่ 3 ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษสตางค์(ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษสตางค์ที่เหลือไปรวมสมทบให้กับผู้ถูกรางวัลที่ซื้อเป็นคนแรก
     (4) รางวัลที่ 4 จ่ายเงินรางวัลแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 8 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลที่ 4 ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษสตางค์(ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษสตางค์ที่เหลือไปรวมสมทบให้กับผู้ถูกรางวัลที่ซื้อเป็นคนแรก
     กรณีที่หมายเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 ที่ซื้อตรงกับผลการออกรางวัลหลายรางวัล กำหนดให้รับรางวัลสูงสุดเพียงรางวัลเดียวเท่านั้น
     ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)
     ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)

อายุความ 2 ปี (มาตรา 37) : ผู้ถูกรางวัลมีสิทธิ์เรียกร้องเงินรางวัลภายใน 2 ปี นับแต่วันออกรางวัลสลาก หากพ้นกำหนดจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน


รูปแบบที่ 2 สลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES)

ชื่อและโลโก้ : สลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด (INSTANT GAMES)

ประเภทสลาก : ไม่สมทบเงินรางวัล ตามมาตรา 26 หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล และไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

วิธีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด : จัดพิมพ์แบบใบ หรือจัดให้มีแบบดิจิทัล จำหน่ายเป็นชุด ชุดละ 1,000,000 ฉบับ แต่ละฉบับจะมีสัญลักษณ์หรือหมายเลขรางวัลที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และถูกปกปิดไว้ในบนสลาก

วิธีการเลือกซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด : ผู้ซื้อต้องทำการขูดเพื่อหาสัญลักษณ์ตามเงื่อนไขการถูกรางวัล โดยจะมีผลรางวัลเป็นสัญลักษณ์หรือหมายเลขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและถูกปกปิดไว้บนสลากแต่ละฉบับ

คุณสมบัติผู้ซื้อ-ผู้ขาย (มาตรา 39/2) : จำกัดอายุผู้ซื้อ-ผู้ขาย 20 ปี ขึ้นไป

สัดส่วนยอดการจำหน่าย (ตามมาตรา 22) :
     กำหนดการจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ดังนี้
     1. ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล
     2. ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบสามเป็นรายได้แผ่นดิน
     3. ไม่เกินกว่าร้อยละสิบเจ็ดเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน

กำหนดประเภทรางวัลและการจัดสรรเงินรางวัล : สลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด จะจำหน่ายออกเป็นชุด จำนวนชุดละ 1,000,000 ฉบับ มีผลรางวัลเป็นสัญลักษณ์หรือหมายเลขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและถูกปกปิดไว้บนสลาก โดยสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด จำนวน 1 ชุด ชุดละ 1,000,000 ฉบับ กำหนดให้มี 3 ประเภทรางวัล และกำหนดอัตราการจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกรางวัลแต่ละประเภทรางวัล ให้ครบร้อยละ 60 ตามมาตรา 22(1) กำหนดให้มีประเภทรางวัล จำนวน 2 แบบ (ในการพิมพ์หรือจัดให้มีสลาก ต้องเลือกแบบของประเภทรางวัลเพียงรูปแบบเดียว ต่อการพิมพ์หรือจัดให้มีสลาก 1 ชุด) ดังนี้

     แบบที่ 1 อัตราการถูกรางวัล 1 ต่อ 6 (ซื้อสลาก 6 ฉบับ มีโอกาสถูกรางวัล 1 ฉบับ) :
     กำหนดให้มี 3 ประเภทรางวัล และสัดส่วนร้อยละของเงินรางวัลในแต่ละประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล สัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 8.33333334 รางวัลที่ 2 จำนวน 100,000 รางวัล สัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 83.33333333 และรางวัลที่ 3 จำนวน 50,000 รางวัล สัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 8.33333333 รวมเงินรางวัลทั้งหมด 150,001 รางวัล มีอัตราโอกาสในการถูกรางวัล 1 ต่อ 6

อัตรารางวัลต่อ 1 ชุด(1,000,000 ใบ) จำนวนรางวัล ร้อยละของเงินรางวัล 60%
รางวัลที่ 1 1 8.33333334%
รางวัลที่ 2 100,000 83.33333333%
รางวัลที่ 3 50,000 8.33333333%
รวมทั้งสิ้น 150,001 100%

     แบบที่ 2 อัตราการถูกรางวัล 1 ต่อ 2 (ซื้อสลาก 2 ฉบับ มีโอกาสถูกรางวัล 1 ฉบับ) :
     กำหนดให้มี 3 ประเภทรางวัล และสัดส่วนร้อยละของเงินรางวัลในแต่ละประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล สัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 8.33333334 รางวัลที่ 2 จำนวน 50,000 รางวัล สัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 41.66666662 และรางวัลที่ 3 จำนวน 300,000 รางวัล สัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 50.00000004 รวมเงินรางวัลทั้งหมด 350,001 รางวัล มีอัตราโอกาสในการถูกรางวัล 1 ต่อ 2

อัตรารางวัลต่อ 1 ชุด(1,000,000 ใบ) จำนวนรางวัล ร้อยละของเงินรางวัล 60%
รางวัลที่ 1 1 8.33333334%
รางวัลที่ 2 50,000 41.66666662%
รางวัลที่ 3 300,000 50.000000004%
รวมทั้งสิ้น 350,001 100%

การพิมพ์หรือจัดให้มีสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด : สลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่กำหนดวิธีการจำหน่ายทั้งแบบใบ และแบบดิจิทัล โดยจะมีผลรางวัลเป็นสัญลักษณ์หรือหมายเลขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและถูกปกปิดไว้บนใบสลากแต่ละฉบับ รูปแบบการพิมพ์หรือจัดให้มีสัญลักษณ์หรือหมายเลขรางวัลและถูกปกปิดไว้บนใบสลาก โดยให้เป็นไปตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด เช่น แบบ 4 ช่อง หรือแบบ 8 ช่อง หรือแบบ 12 ช่อง เป็นต้น

การออกรางวัล : ออกรางวัลไว้ล่วงหน้าเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามเทศกาล ตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด

การจ่ายเงินรางวัล :
     เงินรางวัลร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด รวมในแต่ละงวด (เดือนละ 1 ครั้ง หรือตามเทศกาล ตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด) จะจ่ายตามสัดส่วนของแต่ละประเภทรางวัลตามที่กำหนด
     ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)

     ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)

อายุความ 2 ปี (มาตรา 37) : ผู้ถูกรางวัลมีสิทธิ์เรียกร้องเงินรางวัลภายใน 2 ปี นับแต่วันออกรางวัลสลาก หากพ้นกำหนดจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน


ร่วมแสดงความคิดเห็น

     สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้ง 2 รูปแบบ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อตโต้ 5/31 และสลากกินแบ่งรัฐบาลรู้ผลทันที แบบขูด โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางเครือข่ายสารสนเทศ
     1) ผ่านเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
     2) ผ่านเว็บไซต์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล www.glo.or.th หรือ lottery.glo.or.th

** แสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 **

คลิ๊กเพื่อแสดงความคิดเห็น »